​“พาณิชย์”เผยใช้สิทธิ์ FTA 9 เดือน อาเซียนนำโด่ง เตรียมลุยติว SMEs ใช้เป็นแต้มต่อ

img

กรมการค้าต่างประเทศเผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้  FTA ช่วง 9 เดือนปี 66 มีมูลค่ารวม 62,190.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 82.89% อาเซียนนำโด่งใช้สิทธิ์สูงสุด ตามด้วยอาเซียน-จีน ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-ออสเตรเลีย และอาเซียน-อินเดีย เตรียมลุยจัดสัมมนา ติวเข้ม SMEs ใช้ประโยชน์จาก FTA ในปี 67 ต่อเนื่อง หวังให้ใช้เป็นแต้มต่อในการค้าขาย
         
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในช่วง 9 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่ารวม 62,190.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ 82.89% ของการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด โดย FTA ที่ไทยใช้สิทธิ์ส่งออกสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) มีมูลค่า 22,471.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 36.13% ของมูลค่าการใช้สิทธิ์ทั้งหมด โดยมีการใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกไปอินโดนีเซียสูงสุด มูลค่า 5,477.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมา คือ มาเลเซีย มูลค่า 5,314.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนาม มูลค่า 5,180.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และฟิลิปปินส์ มูลค่า 4,055.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่งของ น้ำตาลที่ได้จากอ้อย น้ำมันปิโตรเลียม และน้ำมันจากแร่บิทูมินัส รถยนต์สำหรับขนส่งบุคคลขนาดเล็ก และเครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือติดผนัง

ส่วน FTA อื่น ที่มีการใช้สิทธิประโยชน์รองลงมา ได้แก่ อันดับ 2 ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) คิดเป็นมูลค่า 18,762.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ 94.34% ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ โดยสินค้าทุเรียนสดยังคงเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงที่สุด อันดับ 3 ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มูลค่า 5,193.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ 76.93% โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงที่สุด เช่น เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง อันดับ 4 ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) มูลค่า 4,642.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ 63.04% สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูง คือ รถยนต์และยานยนต์ที่มีเครื่องดีเซลหรือกึ่งดีเซล และอันดับ 5 ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) มูลค่า 4,117.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 69.20% สินค้าที่ใช้สิทธิ์สูง เช่น ลวดทองแดง
         


นายรณรงค์กล่าวว่า กรมจะเดินหน้าผลักดันให้ผู้ประกอบการไทย ติดอาวุธการแข่งขันด้วยการสร้างแต้มต่อทางการค้า ผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA โดยในปี 2567 มีแผนจัดการสัมมนาภายใต้โครงการส่งเสริม SMEs ให้แข่งขันได้ในตลาดสากล เรื่องยกระดับการค้าสู่สากลด้วยสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง ตามจังหวัดสำคัญต่าง ๆ ซึ่งครั้งแรกจัดไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ย.2566 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สีลม กรุงเทพฯ มีผู้สนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 400 คน
         
ทั้งนี้ ในการสัมมนา จะให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เช่น การใช้ประโยชน์จาก FTA โดยเฉพาะเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และขั้นตอนการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าผ่านระบบการให้บริการด้วยนวัตกรรมดิจิทัล และยังจะเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการไทยที่ได้ใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อสร้างแต้มต่อในการส่งออก การรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการแข่งขันทางการค้าจากผู้ประกอบการไทย รวมถึงการจัด Workshop ให้ผู้ประกอบการได้ทดลองใช้ระบบตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าแบบไร้กระดาษ (ROVERs PLUS) เสมือนจริง 
         
อย่างไรก็ตาม กรมพร้อมให้ข้อมูลและคำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ โดยหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือโทรสายด่วน 1385 รวมถึงไลน์แอปพลิเคชัน ชื่อบัญชี “@gsp_helper”

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง